789 จำนวนผู้เข้าชม |
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ภาษีความเค็ม
อธิบดีกรมสรรพสามิต เผย มีแนวคิดจัดเก็บภาษีความเค็มและไขมัน เผยเน้นเก็บจากอาหารที่ผลิตเป็นอุตสาหกรรม ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา โดยคาดว่าการศึกษาจะเสร็จ ในเดือนธันวาคม ก่อนเสนอ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า (8 พ.ย.) แนวคิดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอาหารตามปริมาณความเค็ม และปริมาณไขมัน จะยึดแนวทางเดียวกับภาษีความหวานที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน เน้นเก็บจากอาหารที่มีคนบริโภคมากๆและมีการผลิตเป็นสากรรม สินค้าที่บรรจุหีบห่อโดยมีการระบุโซเดียมชัดเจน ไม่ใช่เก็บแต่ชาวบ้านทั่วไป
- [ ] สำนักข่าวบีบีซีไทยสอบถามไปยัง ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรเครือข่ายของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนให้ประชาชนตระหนักถึงโทษทางสุขภาพของการบริโภคเกลือมากเกินไป และศึกษารูปแบบภาษีสุขภาพในต่างประเทศ โดย ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า แนวความคิดการจัดเก็บภาษี กับเครื่องดื่ม อาหาร ขนมขบเคี้ยว ที่มีความเค็มสูง มากกว่าความต้องการของร่างกาย 2-3 เท่า เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊ก ซุปก้อน ขนมกรุบกรอบ ปลาเส้น สาหร่าย ซึ่งจะ แยกออกจากอาหารที่มีความเค็ม ระดับปานกลาง-ต่ำ ที่จะไม่ถูกจัดเก็บ
- [ ] “ บางคนคิดว่าจะเก็บภาษีปลาเค็ม ร้านก๋วยเตี๋ยว คงไม่ใช่แบบนั้น แต่เป็นอาหารที่ผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งมีปริมาณโซเดียมระบุชัดเจนในหน่วยบริโภค สามารถใช้ปริมาณในการคัดกรองว่าสินค้าไหนโซเดียมสูง แม่ค้าร้านทำปลาเค็มคงไม่กระทบ” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวกับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์
ภาษี ความเค็ม-ไขมันจะทำให้ สินค้าราคาแพงขึ้นหรือไม่?
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีสินค้าที่มีความเข้มและความมันมาก จะใช้รูปแบบเช่นเดียวกับการเก็บภาษีความหวาน โดยจะมีเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัว เช่น การให้เวลา 5 ปี ซึ่งหากผู้ประกอบการลดไขมันหรือความเค็มได้ ก็จะได้อัตราภาษีลดลง แต่หากรถไม่ได้ก็จะเสียภาษีในอัตราเดิม แต่หากเกินเวลาที่กำหนดแล้วไม่สามารถลดได้ ก็จะเสียภาษีเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับผลกระทบจากการเสียภาษีในทันที
ด้านประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวกับบีบีซีไทยว่า น่าจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไม่มาก แต่ทั้งนี้ต้องให้เวลาอุตสาหกรรมปรับตัว และยังยอมรับอีกว่า หากมีการบังคับใช้ในทันที จะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องปรุงที่เป็นสูตรโซเดียมต่ำออกมาบ้างแล้ว โดยที่ราคาสูงกว่าปกติเล็กน้อย หากกระทรวงการคลังมีมาตรการลดภาษีให้กับอาหารที่รสเค็มลง ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค
อาหารที่คุณกิน โซเดียมสูงแค่ไหน?
จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ใน 1 วันร่างกายไม่ควรรับโซเดียม เกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเปรียบเทียบได้กับเกลือ 1 ช้อนชา (5 มก.) แต่จากการสำรวจของ สสส. พบว่า คนไทยบริโภคโซเดียมสูงเกินกว่าค่ากำหนดขององค์การอนามัยโลกถึง 2 เท่า หรือประมาณ 4,350 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการบริโภคอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็มจัด โดยอาหารประเภทกับข้าวและอาหารจานเดียวส่วนใหญ่มีโซเดียมเกินกว่า 1,500 มิลลิกรัม ต่อถุงหรือกล่องที่จำหน่าย ผศ.นพ.สุรศักดิ์ ยังระบุว่า ปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งมื้อที่ร่างกายควรได้รับ ไม่ควรเกิน 600 มิลลิกรัม แต่ร้านอาหารประเภทข้างทางมีความเค็มเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ 1.5-2 เท่า
คนไทยกับโรคไต
“ มองในแง่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนในระยะยาว กลุ่มโรคที่เกิดจากการบริโภคเค็ม เช่น ความดันโลหิต ไต หัวใจ และอัมพาตนั้นสูงถึง 50,000 -1 แสนล้านบาท” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว จึงมีความจำเป็นในการรณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคเค็มเกิน และหากดูสถิติของคนไทยที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีจำนวนราว 39,400 ราย ทั้งนี้จากจำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ใช้สิทธิ์บัตรทอง เป็นผู้หญิงร้อยละ 51 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดย 1 ใน 4 ของผู้ป่วยทั้งหมดนี้ เป็นหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15 ถึง 49 ปี ทั้งนี้มิได้หมายความว่าเพศหญิงนั้นมี อัตราการเป็นโรคไตมากกว่าชายที่เกิดจากการกินเค็ม เนื่องจากไตวายในเพศหญิงอาจเกิดจากความเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความเสี่ยงที่เกิดจากการตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และถุงน้ำคล่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ รวมถึงภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองด้วย
อ้างอิงจาก : BBC News
--------------------
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ภาษีความเค็ม ที่กำลังพูดถึงในขณะนี้ - BBC News ไทย https://www.bbc.com/thai/thailand-46136054